ประชาสัมพันธ์ การเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth Disease)

08 ก.ค. 65

ด้วยขณะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูฝน ส่งผลให้อากาศเย็นลง ประกอบกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ให้จัดการเรียนการสอนแบบ On-site จึงมีเด็กเข้ามาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคติดต่อที่สำคัญ ได้แก่ โรคมือ เท้า ปาก ซึ่งพบมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี องค์การบริหารส่วนตำบลโนนไทย จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลเด็ก และผู้ที่เกี่ยวข้อง หมั่นสังเกตอาการของเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด

โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth Disease) เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็กโดยเฉพาะช่วงหน้าฝน และสามารถพบโรคมือ เท้า ปากในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน แต่อาการมักจะไม่รุนแรงเท่าในเด็กเล็ก

สาเหตุ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโร ส่งผลให้มีอาการเป็นไข้ เป็นแผลในปาก มีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว

อาการ โรคมือ เท้า ปากจะมีระยะฟักตัว 2-3 วัน โดยอาการเริ่มต้นเด็กจะเริ่มมีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส เป็นอาการนำก่อน จากนั้นจึงมีอาการอื่น ๆ ตามมาภายใน 1-2 วัน คือ เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย และจะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณ ฝ่ามือ  ฝ่าเท้า และบริเวณปากทั้งภายนอกและภายใน โดยหากอาการดีขึ้นจะสามารถหายจากโรคนี้ไปใน 1 สัปดาห์ หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปากชนิดรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

ระยะแพร่เชื้อและการติดต่อ สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการใน 7 วันแรก และหลังจากหายแล้วพบว่ายังสามารถพบเชื้อได้ในอุจจาระได้อีก (ระยะประมาณ 2-3 สัปดาห์) ติดต่อได้โดยการสัมผัสกับน้ำลาย น้ำมูก ผื่นตุ่มน้ำใส และอุจจาระของผู้ป่วย โดยโรคนี้สามารถเป็นซ้ำได้อีก 

การรักษา ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค จึงเป็นการรักษาอาการทั่วๆ ไป ตามอาการของผู้ป่วย เช่น ให้ยาลดไข้ แก้ปวด ทายาที่ลดอาการปวดในรายที่มีแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม เป็นต้น

การป้องกัน โรคนี้มักระบาดในเด็กเล็ก ซึ่งอยู่รวมกันในโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงดูเด็ก เน้นเรื่องการล้างมือ ทำความสะอาดของเล่น ความสะอาดของน้ำดื่มและอาหาร หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะร่วมกันโดยเฉพาะ แก้วน้ำ ขวดนม ช้อน จานอาหาร ที่สำคัญควรให้เด็กที่ติดเชื้ออยู่บ้านไม่ควรให้ออกมาเล่นกับเด็กคนอื่นๆ เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ ทั้งนี้ หากพบเด็กป่วย ขอให้รีบแยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน เพื่อพาไปพบแพทย์โดยเร็ว และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหาย แยกของใช้ส่วนตัวของเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับเด็กคนอื่นๆ งดไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

 

ที่มา : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ดาวน์โหลดเอกสารแนบ :