ท้องก่อนวัยอันควร ปัญหาหนักใจที่แก้ไขและรับมือได้

12 มิ.ย. 66

 

ผลกระทบจากการท้องก่อนวัยอันควร
การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หมายถึง การตั้งครรภ์ในสตรีที่มีอายุระหว่าง 10-19 ปี การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมักเป็นการตั้งครรภ์ไม่พร้อม และโดยส่วนมากไม่ได้รับการดูแลครรภ์ที่เหมาะสม ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ทั้งต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์ เกิดภาวะซีด มีโอกาสติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเกิดภาวะทุพลภาพและเสียชีวิตของมารดาได้มากกว่าการตั้งครรภ์ในผู้ใหญ่ อีกทั้งพบการเพิ่มของอุบัติการณ์การคลอดก่อนกำหนด เพิ่มอัตราการตายปริกำเนิด เพิ่มขึ้นของทารกน้ำหนักตัวน้อย ซึ่งเป็นความเกี่ยวเนื่องมาจากการคลอดก่อนกำหนด และแม่มีโอกาสเกิดการภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้

ท้องก่อนวัยอันควรทำอย่างไร
หากทราบแน่ชัดแล้วว่าตนเองท้อง สิ่งแรกที่ควรตระหนักคือ การแบกรับปัญหาไว้เพียงผู้เดียวไม่ได้ช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น ซึ่งทางออกของปัญหาท้องไม่พร้อม สองแนวทางหลัก คือ ตั้งครรภ์ต่อ และ ไม่ตั้งครรภ์ต่อ (ยุติการตั้งครรภ์/ทำแท้ง)
ตั้งครรภ์ต่อ
 พูดคุยกับพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่ไว้วางใจ พูดคุยกับคนรักหรือผู้ชายที่เป็นพ่อของเด็ก หรือ หากไม่กล้าระบายให้คนใกล้ชิดฟัง สามารถใช้บริการปรึกษาทางโทรศัพท์ของหน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิตที่หมายเลข 1323 ซึ่งพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง หรือสายด่วนเรื่องเพศจากภาคีเครือข่ายของ สสส. หมายเลข 1663
 หากไม่มีครอบครัว หรือ คนใกล้ชิดยอมรับ และให้การดูแลช่วยเหลือระหว่างตั้งท้อง คลอด และหลังคลอด สามารถติดต่อรับบริการบ้านพักชั่วคราวได้
 จัดการเรื่องขอพักเรียนเพื่อให้ศึกษาต่อเนื่องได้ ครูไม่มีสิทธิ์ไล่ออก หากถูกละเมิดสิทธิให้ออกจากโรงเรียน หรือไล่ออกจากงาน ให้ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานด้านสิทธิได้
 ไปรับบริการฝากท้องที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจร่างกาย ฝากท้อง รับวัคซีน ตรวจดูพัฒนาการการตั้งครรภ์ และรับยาบำรุง เพื่อการคลอดที่ปลอดภัยและทารกแข็งแรง
 หากต้องการความช่วยเหลือ เลี้ยงดูเด็กชั่วคราวสามารถติดต่อหน่วยงานที่มีบริการเลี้ยงดูเด็ก (บ้านพักฉุกเฉิน)
 หากไม่พร้อมที่จะดูแลเด็กในระยะยาวสามารถติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาผู้อุปการะบุตรบุญธรรมได้
แต่หากพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าตัวเองยังไม่มีความพร้อมที่จะตั้งครรภ์ต่อไปได้

• พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ซึ่งผู้หญิงจะได้รับสิทธิให้ทำแท้งถูกต้องตามกฎหมาย โดยอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ เป็นช่วงที่ผู้หญิงมีสิทธิทำแท้งได้ กฎหมายมาตรา 301 จะปกป้องผู้หญิงได้และหญิงยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์เมื่อมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ตามกฎหมายมาตรา 305 อนุ 4 ซึ่งมาตรานี้จะปกป้องแพทย์ด้วย

• เพื่อให้ปลอดภัยกับผู้หญิงมากที่สุด ควรเลือกยุติเมื่อตั้งท้องไม่เกิน 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน เพราะสามารถทำได้ที่คลินิก หากเกินกว่านั้นต้องรับบริการที่โรงพยาบาล และสามารถยุติได้จนถึงอายุครรภ์ที่ 24-26 สัปดาห์ เทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันสามารถช่วยให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นไปอย่างปลอดภัย ที่สำคัญการยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา หรือเครื่องดูดสุญญากาศ จะต้องให้บริการโดยแพทย์

ด้วยความปรารถนาดีจากงานสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนตำบลโนนไทย